ABET - อีกครั้งของการเดิมพัน​ทางการศึกษา​

(ข้อความส่วนใหญ่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและการโดนปลูกฝังในหัว ไม่ควรเอาไปอ้างอิงใดๆทั้งสิ้น)

เนื่องด้วยเค้า​ (บรรดา​ผู้บริหารในคณะ) บอกแล้วบอกอีกว่า​เจ้า​ ABET​ มันจะมา​ พร้อมกับ​ AUN-QA ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้​ แม้ว่าเค้ากลุ่มเดิมจะตอบแบบแผ่นเสียงตกร่องว่า​ ทำแค่ตัวเดียว​ ทำแค่ตัวเดียว​ ทำแค่ตัวเดียว​ (ต่อให้ไม่เชื่อ​ แต่ก็เหมือนโดนสะกด)... เอาหละเชื่อหรือไม่เชื่อ​ ศรัทธาหรือไม่ศรัทธา​ ในเมื่อบรรดาผู้ทรงภูมิทั้งหลายบอกว่าต้องทำ ก็มาดูกันหน่อยว่าเจ้า​เอเบท​ ​(ABET) มันคืออะไร​ มีที่มายังไง​ แล้วการเอาคนที่เตรียมสอนไม่ค่อยจะทันอย่างฉันไปทำงานเอกสารเพิ่มเนี่ย​ มันจะช่วยให้มาตรฐานการศึกษา​ดีขึ้น​ได้จริงมั้ย...



คำถามแรก​ ABET​ คืออะไร?
ABET ​(Accreditation Board for Engineering and Technology) เป็นกลุ่มบุคคลที่สถาปนาตัวเองขึ้น​ เพื่อเอาเกณฑ์​ของของตัวเองไปเที่ยวตัดสินคนอื่น ใช่หรือเปล่า?... เอ่อ​ อันนี้ก็แรงไปหน่อย แต่มาตรฐานทั่วๆไปก็อย่างนี้กันทั้งนั้น เพียงแต่กลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองขึ้นมาก็ต้องมีพลังพอที่จะทำให้มาตรฐานเหล่านั้นเป็นที่ยอมรับ หรือแสดงให้เห็นว่ามันมีประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง   แล้วเจ้าเอเบทนี้ท่านผู้ใดสถาปนาขึ้นมาเล่า?...

เอเบท ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1932 ในนาม The Engineers’ Council for Professional Development (ECPD) แปลเป็นไทยเองว่า สภาวิศวกรเพื่อการพัฒนาอย่างมืออาชีพ   มีสำนักใหญ่ครั้งแรกอยู่ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันย้ายมาอยู่ที่ Baltimore, Maryland  ทำหน้าที่รับรองหลักสูตรและกำหนดมาตรฐานทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหน่วยงานต่างๆในอเมริกา   แล้วก็มาเปลี่ยนชื่อเป็น Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ในปี ค.ศ. 1980 เพื่อมุ่งเน้นเรื่องการรับรองหลักสูตรมากขึ้น จากนั้นก็เดินสายแนะนำให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงมาตรฐานที่กลุ่มตนจัดทำขึ้น ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มที่จัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์... อืม ก็ดูเก่าแก่ดีนะ อยู่มาได้นานขนาดนี้ คงมีอะไรดีบ้างแหละมั้ง...

อยากมีใครสักคนมารับรองต้องทำยังไง?
...หึๆๆ ก็จ่ายตังค์สิจ๊ะ... แล้วจ่ายเท่าไหร่หละ? ... เท่าที่รู้ (ไม่ยืนยันตัวเลข) ถ้าอยู่ในประเทศเขาก็จ่าย 3,000 ดอลลาร์ไปก่อน แล้วตามด้วยหลักสูตรละ 3,000 ดอลลาร์ แต่อันนี้ข้ามไป เพราะเราคุยกันแบบไทยๆ อัตราสำหรับดินแดนห่างไกลอย่างเราๆ จ่ายไปก่อน 8,500 ดอลลาร์ แล้วตามด้วยหลักสูตรละ 8,500 ดอลลาร์ ส่วนเงินบาทเป็นเท่าไหร่คิดเอาเองละกันตามค่าบาทที่ผันแปร แต่คร่าวๆก็ไม่ต่ำกว่าครึ่งล้าน... ถูกหรือแพงก็แล้วแต่เงินในกระเป๋าของหน่วยงานท่าน

แต่ๆๆ... ไม่ใช่จ่ายตังค์แล้วจะจบ (จ่ายย่างเดียวแล้วจบก็แย่แล้ว คงไม่ต้องมานั่งคุยถึง) ขั้นตอนคร่าวๆ  ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อน แล้วค่อยสมัคร+จ่ายตังค์ จัดทำรายงานประเมินหลักสูตรและเตรียมเอกสารต่างๆไว้ให้พร้อม จากนั้นเค้าจะส่งคนมาเยี่ยมเรา แล้วสักพักก็จะส่งผลกลับมาให้... ขั้นตอนก็ไม่ได้ดูยุ่งยากอะไร ถ้าคุณเตรียมตัวดีอ่ะนะ...(ส่วนเตรียมเอกสารติดไว้ก่อน)

รับรองแล้วอยู่ได้นานแค่ไหน?
6 ปีคือตัวเลขที่เขาพูดถึง ซึ่งตีความว่าครบ 6 ปีต้องมาประเมินใหม่นะจ๊ะ แต่ถ้าผลประเมินเป็นแบบ Weakness (อ่อนแอแต่ไม่แพ้) 3 ปีก็ต้องมีรายงานหรือมาเยี่ยมเยียนกันบ้าง...

เอเบทเค้าสนใจเรื่องไหนกันบ้าง?
ตอบตามตรงว่ายังไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นก็รู้แบบผิวๆแค่ว่า เค้าดู 8 ด้านนะ ได้แก่
1. นักศึกษา (Students)
2. วัตถุประสงค์ทางการศึกษาของหลักสูตร (Program Education Objectives: PEOs)
3. สิ่งที่ได้ติดตัวนักศึกษาออกมา (Student Outcomes)
4. การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)
5. หลักสูตร (Curriculum)
6. คณะ (Faculty)
7. สิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities)
8. การได้รับการสนับสนุนจากสถาบัน (Institutional Support)

พระเอกของงานตัวหนึ่งก็คงเป็น PEO แหละนะ รายละเอียดของแต่ละข้อ ขอยังไม่กล่าวถึง แต่เห็นมีบางคนเอาไปเทียบเป็นข้อๆกับมาตรฐานตัวอื่นบ้างแล้ว ก็มีหลายส่วนที่คล้ายกัน หรือบางส่วนที่เหมือนกันแต่เรียกกันคนละชื่อ มีวิธีการเขียนให้โดนใจกรรมการกันคนละแบบ... จะให้บอกว่าใครดีกว่ากันเนี่ยวัดยากนะ เหมือนเอามะม่วงอกร่องจากสวนข้างๆกันมาให้หลับตาชิมแล้วบอกว่าอันไหนอร่อยกว่า... ซึ่งผู้ทรงภูมิบ้านเราก็ฟันธงได้ว่าอันไหนดีกว่า เจ๋งจริงๆ!... เอ๊ะ หรือตัดสินใจไม่ได้ เลยเหมาเอามาทุกสวนเลย...



คำถามสำคัญ ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร?
เราคงไม่ต้องถามกันว่าควรจะทำมั้ย เพราะนั่นไม่ใช่อำนาจของเราในการตัดสินใจ ส่วนประโยชน์สวยหรูที่เค้าวาดฝันกันไว้ ...มันจะทำให้ระบบการศึกษาของบ้านเรามีมาตรฐาน นักศึกษาจบออกมามีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง...(อืม...ก็ดีนะ)

ประโยชน์แอบแฝง ก็เอาไว้โฆษณาได้ไงว่าหลักสูตรของเราดี หวังว่าเด็กจะมาเรียนเพิ่มมากขึ้น เผื่อมีนักศึกษาต่างชาติสนใจมาเรียน   อ่าวๆๆ...งั้นหลักสูตรไทยก็ไม่จำเป็นสิ แปลกตั้งแต่หลักสูตรไทยแต่เราต้องใช้เกณฑ์ต่างชาติประเมินแล้ว (แต่เกณฑ์ไทยฉันก็ไม่ชอบ เออ...ก็แกมันขี้เกียจไง) เอกสารสอนเด็กไทยแต่ต้องแปลเป็นอังกฤษเพื่อให้ผู้ประเมินเข้าใจ ตกลงวัตถุประสงค์ของการประเมินมันคืออะไรกันแน่? คุ้มมั้ยกับการที่ต้องเสียเงินเสียเวลามาทำ? นักศึกษาจะได้ประโยชน์จริงมั้ย? หรือมันจะเป็นแค่ผักชี? ทำไมต้องมาวุ่นวายกับการเตรียมเอกสารเพื่อเอาไปขอเอกสาร? แล้วเราให้ความสำคัญกับการสอนแค่ไหน? (อันสุดท้ายนี้ตอบได้ คือไม่ให้ความสำคัญเลย เพราะอยากนัดประชุมเมื่อไหร่ก็นัด คนคิดไม่ได้สอนละมั้ง)

อ๊ะ บ่นอีกละ... ถ้ามันมาจริงคงได้มีมหากาพย์​เรื่องของ​ ABET ต่ออีกหลายภาค... แล้วเจอกัน!

ข้อมูลอ้างอิง
http://www.abet.org/

Comments